top of page

This War of Mine: The board game


จากเกมคอมระดับรางวัล ลงสู่บอร์ดเกม

ก่อนรีวิว หนึ่ง This war of mine คือเกมคอมระดับรางวัล แถมยังติด TOP 100 ของเกมมือถือ แค่เริ่มก็ฟังดูดี และสอง ตามคู่มือฉบับบอร์ดเกม ได้อ้างว่าเกมนี้ คุณไม่จำเป็นต้องอ่านกฎ ให้เริ่มเล่นเลยเดี๋ยวรู้เอง เจ๋งขนาดนั้นเชียว แล้วความจริงตกลงมันสนุกกว่าเกมคอมจริงหรือเปล่า?!? ไป ลงมือเล่นมันทั้งสองเวอร์ชั่นแล้วมาดูกัน

 

เริ่มด้วยโฉมหน้าของ This war of mine ฉบับ iphone (credit : screenshot in app store)

และเมื่อลงมาอยู่ในรูปแบบบอร์ดเกม

          เนื้อเรื่องของเกม สมมุติให้เราอยู่ในช่วงหลังสงครามกลางเมือง ประชาชนลุกฮือต่อต้านรัฐบาลทหารแต่พ่ายแพ้ เลยโดนกวาดล้าง กองทหารตัดเสบียงอาหาร ไฟฟ้า น้ำ และออกตามล่าคนที่รอด เราคือกลุ่มคนที่ยังรอดอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆ กลางวันไม่สามารถออกไปข้างนอกได้เพราะเดี๋ยวโดนยิง ส่วนกลางคืนเป็นเวลาโจร ที่ทุกคนออกมาแย่งหาของกันได้

          ถ้าจัดหมวดหมู่ก็นับว่าอยู่ในเกมจำพวกเอาดำรงชีวิตให้รอดจนกว่าจะจบเกม ซึ่งเกมแนวนี้ก็มีมากมายให้เห็น แต่สำหรับเรา This war of mine กดดันให้เราอยู่ในภาวะหดหู่ และจวนเจียนจะไม่รอดตลอดเวลา เพราะนอกจากจะต้องรอดให้ได้แล้ว ยังมีเนื้อเรื่องแทรก ที่เปรียบเสมือน cut scene ที่ทำให้เกมหดหู่เศร้าซึมลงไปอีก ซึ่งมาในรูปแบบ The Book of Scripts

     ในเล่มมีเนื้อเรื่องเป็น 1000 แบบ หักมุมไปมา บางทีก็ปล่อยให้เราเลือกทางออกได้ บางทีก็บังคับ และบางทีก็เป็นเพียงเนื้อเรื่องคั่นที่ทำให้เราอินกับบรรยากาศเกมเฉยๆ เอาล่ะ ทำใจสู้แล้วเล่นต่อ ส่วนนี้แหละที่คือความสนุกที่สุดของเกมนี้ ทั้งเวอร์ชั่นเกมมือถือ และบอร์ดเกม

วิธีเล่นก็ไม่ได้ยากนัก เริ่มจาก

เช้ามืด> เปิดการ์ด Event ว่าวันนี้อากาศหนาวระยำแค่ไหน และมีภัยอะไรคุกคาม

เช้า > ออกจากที่พักไม่ได้ เพราะเดี๋ยวเจอทหารซุ่มยิง แค่โผล่หัวออกไปหน้าบ้านก็เสี่ยงโดน sniper แล้ว จึงทำได้แค่มุดหัวอยู่ในบ้าน ช่วยกันรื้อค้นซากที่เจอในที่พัก ขึ้นลงไปตาม floor และห้องต่างๆ ได้ของมาก็เก็บเข้ากองกลางไว้ก่อน ตัวละครนั้นจะหาของได้ไม่กี่ครั้งนัก เพราะส่วนมากจะป่วย บาดเจ็บ หรือเหนื่อยเกินกว่าจะทำได้ไปเสียก่อน

เมื่อของได้มากพอก็สร้างอุปกรณ์อำนวยความสะดวก และเริ่มใช้งานเครื่องนั้นโดยการป้อนวัตถุดิบ

เช่น ใช้ของที่หามาเพื่อสร้าง Heater และป้อนฟืนหรือเผาหนังสือเพื่อเป็นเชื้อเพลิง ให้ความอบอุ่นในที่พัก ไม่งั้นอาจหนาวไข้จับตายได้

อีกตัวอย่าง - สร้างกับดักหนู และป้อนเคมีเพื่อดักเอาหนูดิบมาเป็นเสบียง ดีกว่าอดอาหารแล้วหิวตาย T T โหด

เย็น > ดื่มน้ำ กินอาหาร 

ค่ำ > ช่วงเวลาโจร เหล่าทหารเลิกงาน เราจะลงมือแบ่งหน้าที่ตัวละคร ใครนอนหลับพักผ่อน ใครเสี่ยงออกไปหาของยังชีพเพิ่มเติม และใครต้องยืนยาม เพราะที่พักเราก็อาจมีคนมาบุกที่พักของเราในยามค่ำคืนได้เช่นเดียวกัน ก็มันอดอยากนี่นาช่วยไม่ได้ มีตั้งแต่เด็ก คนชรา ขอทาน คนบ้า ยันโจรเลยทีเดียว

คนยืนยามจึงควรพกอาวุธไว้ด้วย

อยู่ที่พักก็ไม่ดี ออกไปหาของข้างนอกยิ่งอันตรายกว่า แต่ก็สนุกมากกว่าด้วย ตัวละครที่ออกไปนั้นเสี่ยงเจอคนหลายแบบ ทั้งมาดีทั้งมาร้ายได้สารพัด จะเจอใคร ได้ของอะไรนั้น ระบบเกมจะใช้การเปิดการ์ดแล้วแก้สถานการณ์ ไปทีละใบ ทีละใบ จนกว่าตัวละครจะทำไม่ไหว เนื้อเรื่องที่เกิดขึ้นช่วงนี้จะพีคมากที่สุดในเกม ทั้งน่ากลัว เศร้าสลด ปนกันไป 

หากจำเป็นต้องสู้กับใครก็ตามที่พบระหว่างทาง ระบบเกมจะใช้เต๋าในการดูผลการต่อสู้ อาวุธมีตั้งแต่กำปั้น ขวาน จนถึงปืน การสู้นำมาซึ่งแผลบาดเจ็บ แต่ก็อาจได้ของดีๆกลับมาเช่นกัน ที่สำคัญ เพื่อเอาชีวิตรอด เราอาจต้องสู้กันเองระหว่างคนอดอยาก ซึ่งมันช่างน่าเศร้ายิ่งนัก (เกมเค้าว่างั้น)

เช้ามืด > ช่วงที่ทุกคนสะบักสะบอมกลับมารวมกัน แจกจ่ายยา ผ้าพันแผลที่หามาได้แก่คนที่กำลังป่วยหรือบาดเจ็บ หายไม่หายก็ต้องมาลุ้นกับการ์ด FATE หรือชะตากรรมอีก ใครติดบุหรี่ติดเหล้าติดกาแฟ ก็อัดกันเข้าไปในช่วงนี้เพื่อเยียวยาหัวใจ ใครคลีนหน่อยก็พึ่งเสียงดนตรีจากกีต้าร์พังๆที่เก็บมาก็ได้

สิ้นสุดวันอันเหนื่อยล้า จั่วการ์ดชะตากรรมปิดท้าย

ก่อนจะวนไปเริ่มเช้ามืด วันใหม่อีกครั้ง

การดำเนินเกมบังคับให้ตัวละครอยู่ในสภาพอดนอน และอดอยากอยู่เสมอ ซึ่งมีผลต่อค่าสถานะ

Hunger - ความหิว  /  Fatigue - ความอ่อนล้า  /  Illness - ป่วย  /  Wound - บาดเจ็บ  /  Misery - ความหดหู่สิ้นหวัง

เมื่อค่าตัวเลขเริ่มสูงขึ้น คุณต้องรีบแก้ไข

หิวก็กิน เหนื่อยก็พัก ป่วยก็กินยา เจ็บก็พันแผล เศร้าก็โด้ปเหล้า หนาวก็ใส่เสื้อ ฝนตกก็กางร่ม เมื่อเป็นหวัด นึกถึง. . . . . . .โว้ยยยนั่นมันโฆษณา!

ถ้าหาของมาแก้ไม่ทัน ค่าสถานะพุ่งถึงระดับ 4 แน่นอนว่าข่าวร้ายบางอย่างจะมาเยือน เกมจะบอกคุณเอง

จากหนังสือ The Book of Scripts จองวัดได้เลย

ความโหดคือ เกมยอมให้เรามีตัวละครได้มากสุดแค่ 4 ตัวเท่านั้น ซึ่งเราเล่นมาสามรอบละปรากฎว่า เหลือ 2 ตัวก็บุญแล้ว เพราะตัวละครเปราะบางมาก มักจะตายจากไปก่อนเสมอ

แต่ทั้งนี้ This war of mine แบบมือถือ ให้เราเล่นให้รอดไปเรื่อยๆ แต่ในบอร์ดเกมจะมี 3 Chapter ใหญ่ๆ และมีตอนจบที่แล้วแต่ดวง ต้องร่วมมือกันระหว่างคนที่เล่นด้วยกันพอสมควร ถึงจะรอดได้

ทีนี้ประเด็นสำคัญ เพราะ polygon.com พูดถึงเกมเวอร์ชั่นบอร์ดว่าเทียบเกมคอมไม่ได้เลย!! เพราะการบอกว่าเล่น 2-5 คน พอพาเพื่อนมาเล่น 5 คน ด้วยลักษณะการแบ่งหน้าที่ที่เวียนไป ทำให้ไม่มีใครได้ครอบครองความเป็นตัวละครใดเลย เลยทำให้เล่นไม่อิน ได้แต่ไหลตามเนื้อเรื่อง ในขณะที่คุณ Tom Vasel จาก The Dice Tower บอกว่าเกมนี้เล่นแล้วอึน หดหู่ ถ้าเขาอยากเล่นเกมแนวเอาชีวิตรอดแบบนี้ เขาขอเล่นเกมอื่นดีกว่า

แต่สำหรับ Payakarun หลังจากเล่นรอบแรก เราเล่นแบบไม่รู้กฏอะไรเลยตามที่คู่มือว่า พวกเราเล่นยาวไป 6 ชั่วโมงและจบด้วยความมึน ควบคุมการเล่นไม่ได้เลย เราแพ้ หลังจากนั้นเรากระดกเครื่องดื่มเย็นๆ ทำใจให้สงบไม่ตื่นกลัวกับตัวหนังสืออันมหาศาลในเกม แล้วลงมือเล่นอีกครั้ง ซึ่งหนหลังเราเชี่ยวชาญขึ้น ก็พบว่า นี่มันเกม 2-Players แบบช่วยกันเล่นไปพร้อมกัน หรือเกม co-op ที่ดีมากๆเลยนี่หว่า โดยเฉพาะเนื้อเรื่องที่เราเจอแต่ละรอบ คุณสมบัติตัวละครที่เราบังเอิญได้เล่น บางคนใจเสาะจนน่ารำคาญ บางคนอึด ดวงดีเกินคาด!

แต่สรุปแล้ว เล่นมาหลายๆรอบเข้า สนุกยิ่งกว่ามือถือ สนุกติดหนึบเลยล่ะ

(This war of mine มีให้เล่นที่ร้าน K ย่านสุขุมวิท39 แถมราคาขายก็ไม่โหดด้วยนะ)

โดย : พยัคฆ์อรุณบอร์ดเกม Payakarunboardgame 2017 Payakarun boardgame

ดู 380 ครั้ง

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Dive

Comments


bottom of page