top of page

Coffee Roaster - Solo Boardgames


เข้าสังคมไม่เก่ง ไม่ชอบพูดเยอะเดี๋ยวเจ็บคอ หรือแม้แต่ต้องการโมเม้นต์ส่วนตัว จะเหตุผลอะไรก็ตามที่ทำให้คุณอยากเล่นบอร์ดเกมคนเดียว เราขอแนะนำเกมนี้ Coffee Roaster เกมจากค่ายญี่ปุ่นสุดอินดี้ Saashi&Saashi ที่เคยได้แนะนำไปแล้วในโพสก่อนนู้น  แต่บอกก่อนเลยว่า นี่คือหนึ่งในเกมเล่นคนเดียวที่เจ๋งสุดๆ ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำกาแฟแบบลึกซึ้ง จนรู้สึกถึงกลิ่นอโรมากาแฟตลอดเกม เชิญอ่านรีวิวบอร์ดเกม Coffee Roaster จากพยัคฆ์อรุณได้เลย

 

แม้หลายๆเกมจะปรับกฎให้คุณสามารถเล่นคนเดียวถึงหลายคนได้ แต่ Coffee Roaster ถือกำเนิดจากการเป็นเกมเพื่อเล่นคนเดียวโดยแท้  ด้วยเนื้อหาเกมที่พาคุณสวมบทบาทเป็นเจ้าของโรงคั่วกาแฟสายพันธุ์ดีจากทั่วโลก ตลอดจนนำกาแฟฝีมือคั่วของคุณไปชงเป็นกาแฟให้ได้รสชาติสุดยอด ธีมแบบนี้จึงทำให้คุณไม่ต้องเล่นแข่งกับใคร นอกจากใช้ความคิด และแข่งกับอุปสรรคของเกมก็พอ เกมมีคู่มือมาให้ทั้งภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษ

ตัวกล่องมาในขนาดกลาง เพราะคอนเส็ปของเกมญี่ปุ่น ถ้าไม่จำเป็นจะไม่ทำกล่องใหญ่ แต่กล่องเท่านี้ คุณภาพคับกล่องเลยทีเดียว (ภาพนี้เมื่อวางเทียบกับเกมการ์ดธีมกาแฟ Blend Coffee Lab จากค่ายเดียวกัน)

อุปกรณ์โดยรวมด้านใน หน้าตาประมาณนี้ น่ารักสุดๆ

เริ่มจาก Beans Sheets หรือซองข้อมูลกาแฟ ในซองจะมีการ์ดชนิดกาแฟมากมายให้เลือกเล่น มีทั้งสองด้าน การ์ดนี้เราจะเลือกเล่นเพียงครั้งละ 1 ใบ และถือเป็นโจทย์ในการเล่นแต่ละรอบ มีทั้งหมดสามสี คือน้ำตาลอ่อน น้ำตาลกลาง และน้ำตาลเข้ม เปรียบเหมือนกาแฟที่ต้องคั่ว อ่อน กลาง เข้ม แตกต่างกันไป หากคุณเป็นคอกาแฟคงพอรู้ว่ายิ่งคั่วเข้มจะยิ่งหอมในขณะที่รสเปรี้ยวฝาดจะลดลงนั่นเอง

Beans Sheet นี้ คุณสามารถเลือกระดับความยากได้ โดยดูแถบสีด้านข้าง สีเทาคือ Beginner , สีเขียวคือ คือ Advance และสีแดงคือยากสุด หรือ Expert (บอกเลยว่ายากมาก) 

สมมุติว่าเลือกเล่นกาแฟ Jamaica Blue Mountain NO.1

ความยากระดับ: Beginner

ในชีทจะบอกข้อมูลที่มาตลอดจนคาแร็คเตอร์ของกาแฟให้คุณได้อินก่อนเลยตรงส่วนบนของชีท โดยเราจะต้องคั่วเมล็ดกาแฟสดพันธุ์นี้ให้พอดี และชงให้ได้สุดยอดรสชาติ เพื่อรับคะแนนสูงสุด ยิ่งคุณพลาด กาแฟจะยิ่งเสียของและคะแนนต่ำลง เล่นให้ครบสามครั้ง แล้วมาดูผลรวมคะแนนว่า คุณเป็นนักชงกาแฟระดับไหนกันแน่

เริ่มจากซื้อเมล็ดกาแฟสดมาก่อน โทเคนกลมๆนี้หมายถึงเมล็ดกาแฟ

สีเขียวอ่อนคือเมล็ดดิบ เป็นแต้มเสีย แต่เมื่อได้รับการคั่ว จะกลายเป็นเบอร์ 0 เสมอ

เบอร์ 0 คือเมล็ดพร้อมคั่ว ยังกินไม่ได้ ไม่มีรสชาติ

เบอร์ 1 2 3 ก็คือเมล็ดที่ผ่านการคั่วขึ้นไป จนเข้มขึ้นตามลำดับ

เบอร์ 4 คือคั่วเข้มสุดๆ

เมล็ดสีดำคือไหม้แล้ว เป็นคะแนนลบ

ส่วนโทเคนเทารูปเมล็ดแหว่ง คือ เน่า คะแนนลบหนักมาก

โทเคนถัดมาคือรสชาติของกาแฟ

สีแดงคือ Body หรือความหนาจาง , สีเขียวคือ Acidity หรือความเปรี้ยว , สีน้ำเงินคือ Aroma หรือความหอม ส่วนอันสามสีคือ Wild Token หรือใช้แทนสีไหนก็ได้ 

มีโทเคนอุปสรรคอีกนิด

หยดน้ำคือความชื้น ที่ขัดขวางการได้คะแนน และเมฆดำคือควันไหม้ที่ให้คะแนนลบ

เริ่มเล่น ได้เมล็ดกาแฟอะไรมาบ้าง ให้ดูตรงพื้นที่สีครีม

อย่างอันนี้ ได้เมล็ดดีมา x13 , เมล็ดดิบ x3 , ความชื้น 3 , เมล็ดเน่าปนมา 1 และได้โทเคนรสชาติ Body 2, Acidity 2 , Aroma 3

เหมือนการซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรที่เราไม่สามารถรู้ได้ว่าในกระสอบมีเมล็ดเสีย หรือมีความแปรปรวนทางรสชาติติดมามากน้อยเท่าไหร่

ใส่ทั้งหมดลงถุง ถุงก็เปรียบเป็นถังคั่วกาแฟนั่นเอง ตอนนี้รวมตัวเลขค่าเมล็ดกาแฟในถุง จะเท่ากับ 0 แถมยังมีเม็ดเสียปะปนอยู่

เป้าหมายเกม (Roast Point - ส่วนสีฟ้า)

เราจะต้องสร้างกาแฟที่มีค่าความเข้ม 11-18 เพื่อรับคะแนน

ถ้าชงได้ความเข้ม 11 จะได้เพียง 4 คะแนน เรียกว่าชงอ่อนไป ดื่มได้แต่ยังห่างไกลจากการเป็น Jamaica ที่ดี

ถ้าชงได้ความเข้ม 18 จะได้ 4 คะแนนเช่นกัน เพราะชงเข้มไป จาไมก้าเกรียมๆ

และ ถ้าชงได้ความเข้มที่ 14 และได้คะแนนสูงที่สุด คือ 10 คะแนน

รวมทั้งกาแฟแก้วนี้ต้องมีรสชาติ 1 Acidity และ 2 Aroma ด้วยจึงจะได้คะแนนพิเศษ และถือเป็น Perfect Blend

เราต้องกำจัดความเสี่ยงทิ้ง รวมทั้งคั่วกาแฟในถุงเรา ให้สามารถชงกาแฟตามเงื่อนไขนี้

ย้ายมาดูกระดานกันบ้าง

ฝั่งขวาคือฝั่งโรงงานคั่ว  ส่วนฝั่งซ้ายคือ Cafe ที่เราต้องไปชงกาแฟดื่มพิสูจน์รสชาติ เราจะเริ่มเล่นที่ฝั่งโรงงานก่อน คั่วกี่รอบก็ได้จนกว่าจะได้ความเข้มเมล็ดที่พึงพอใจ แล้วจึงย้ายไปเล่นฝั่ง Cafe โดยไม่สามารถย้อนกลับมาคั่วได้อีก

ด้านล่างนี้คือถังคั่ว ที่กำหนดรอบการเล่น

ตัวเลข 6 - 14 คือจำนวนเมล็ดกาแฟที่จั่วขึ้นมาจากถุงเพื่อเล่นในแต่ละรอบ

ที่ระดับการจั่ว 10 และ 12 จะเป็นช่วงที่เตาร้อนจัด และจะเกิดควันดำขึ้นด้วย เมื่อผ่านรอบนี้ต้องเก็บควันลงถุง เพิ่มอุปสรรค

เริ่มเล่นตรงไหน ให้ดูตามความชื้นแล้ววางเม็ดแดงไว้

ส่วนตรงโซนแดงเตาร้อนจัดก็วางโทเคนควัน 2 และ 3 อันตามภาพ

อย่างอันนี้ เล่นกาแฟ Jamaica Blue Mountain NO.1 ความชื้น 3

ก็วางเม็ดแดงตรง 3/4 แล้วเริ่มเล่นที่การจั่ว 8 เมล็ด เป็นต้น พอรอบถัดไปก็จั่ว 9, 10 เรื่อยไป

โซนนี้คือการยอมเสียเมล็ดกาแฟ หรือโทเคนรสชาติที่จั่วขึ้นมา เพื่อเปลี่ยนเป็นความสามารถบางอย่าง ตรงนี้จะเป็นเกมวางแผนลงทุนนิดๆ เช่นแถวบน เสียเมล็ดกาแฟเบอร์ 1 และ 0 เพื่อแลกเอาโทเคนพิเศษที่ใช้แทนรสอะไรก็ได้

หรือบรรทัด 2 ทิ้งโทเคน Body เพื่อจั่วเพิ่มอีก 2 เมล็ด

หรือ บรรทัดล่างสุด คือจ่ายโทเคนรสชาติอะไรก็ได้ 1 อัน เพื่อแลกกับการทิ้งของเสีย

อันไหนเล่นแล้วจะวางเพื่อเล่นซ้ำไม่ได้ ต้องคิดดีๆ เอาที่ใช่ในจังหวะที่คุ้มที่สุด

โซนทางขวา จะทำทีหลัง

โซนนี้ว่าด้วยการลงทุนจ่ายโทเคนรสชาติเพื่อแลกซื้ออุปกรณ์ลดความเสี่ยง และเพิ่มคะแนนในการเล่นช่วง Cafe

การคั่วกาแฟ

เมล็ดกาแฟที่จั่วออกมาจากถุง ก่อนใส่กลับคืนถุงจะต้องเพิ่มระดับความเข้มเข้าไป โดยปกติจะคั่วขึ้นไป 1 ระดับ (ตามลูกศรน้ำตาล) แต่ถ้าผ่านช่วงที่เตามีความร้อนสูง เมล็ดจะคั่วขึ้นไป 2 ระดับแทน (ลูกศรสีแดง)

การเล่นแต่ละรอบจึงทำให้ผลรวมความเข้มในถุงเพิ่มขึ้น

อย่าลืมขยับ cube สีน้ำตาลเข้มตรงนี้ เพื่อนับค่าความเข้มรวมๆในถุงด้วย ไม่งั้นงงแน่ว่าคั่วไปเท่าไหร่แล้ว

สรุป turn การเล่นในฝั่งโรงคั่วเป็นตามใบนี้

ขยับรอบ - จั่วจากถุง - เข้าโรงงานแลกเป็นแอคชั่นพิเศษที่ฝั่งซ้าย - แลกเป็นตัวช่วย Cafe ที่ฝั่งขวา - คั่วเมล็ดที่เหลือขึ้นไป - ทิ้งความชื้นไปและคืนที่เหลือกลับถุง - ขยับรอบ - จั่วใหม่

เมื่อได้ความเข้มที่ต้องการก็ได้เวลาของฝั่ง Cafe

ยังจำได้ไหมว่าคะแนนการชง Jamaica ที่ดีที่สุดคือค่าความเข้ม 14  และจะให้ดีต้องมี Acidity 1 และ Aroma 2

และแรกเริ่มเรามีโทเคนทั้งหมด 27 เม็ดในถุง

แต่ในฝั่ง Cafe นี้ เรามีสิทธิจั่วในถุงขึ้นมาทำกาแฟได้เพียง 10 เม็ดเท่านั้น

นั่นหมายความว่า เราต้องจั่วให้ได้ 10 เม็ดที่พลาดน้อยที่สุด 

ได้ความเข้ม 14 และมีรสชาติที่กำหนดด้วย

การเล่นในรอบโรงคั่วก่อนหน้านี้ถึงสำคัญมาก ถ้าเราไม่ทิ้งเม็ดเสียออกไปจากถุง รวมทั้งคั่วเมล็ดกาแฟเข้มเผื่อๆไว้ ในรอบนี้มีหวังจบเห่

วางตัวช่วยที่ซื้อมาจากรอบที่แล้วก่อน มีทั้งค่าความเข้มเบอร์ 3 , ถาดพิเศษความเข้มคูณ 2 , ถาดทิ้งของเสียเพิ่ม เป็นต้น แล้วลงมือชง หรือจั่วได้เลย

ยกตัวอย่างแก้วนี้ จั่วขึ้นมา 10 เม็ด วางทีละเม็ดใส่แก้ว เจอเม็ดเสียระหว่างทางก็ทิ้งไปในถาดทางขวา

สรุปแล้วได้ความเข้มรวม 14 แต่รสชาติขาด Aroma ไป 1 แถมมีเม็ดไหม้

ในขณะที่การชงครั้งต่อมาทำได้ดีกว่า เพราะไม่มีเสียเลย แถมได้ Acidity + Aroma ครบ

นอกจากนี้ยังมีคะแนนพิเศษพวก skill ตั่วให้ได้ระดับเดียวกันจำนวนซ้ำกันเยอะๆ บวกคะแนนความครบรสชาติอีกด้วย

ชงสามทีสามแก้ว แล้วนับคะแนนรวมเพื่อดูระดับความเป็นเซียนกาแฟที่ตารางนี้ มีตั้งแต่ Apprentice Roaster (เด็กฝึก) ยัน Meister (ผู้บรรลุ)

พยัคฆ์อรุณเองก็เคยเล่นคนเดียว ไดระดับย่ำแย่ฝึกหัดมาก แต่พอชวนเพื่อนมามองกดดันตอนเล่น กลับได้ระดับดีเชียว พุ่งไปถึง High Level Roaster ซะงั้น 

ด้วยความยากของเกมที่มีหลายระดับ รวมทั้งประเภทกาแฟก็มีให้เลือกเล่นมากมาย เกมนี้จึงไม่เบื่อง่ายๆ รวมทั้งการออกแบบระบบอุปสรรคในเกม ที่ยากนิดๆกำลังดี ยิ่งทำให้การเล่นสนุกยิ่งขึ้น 

หรือถ้ายากไป ก็กลับกระดานเอาด้านง่าย (สีชมพู) ขึ้นมาเล่นได้

อย่าลืมลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นภายในถุง พยายามคั่วเผื่อเหลือเผื่อขาด เผื่อจั่วไม่ได้ ทำให้ดีที่สุดเตรียมไว้ พยายามเล่นโทเคนเพื่อทำแอคชั่นเอาของเสียออกจากถุงจั่ว และเล่นในจังหวะที่คุ้มที่สุด เช่นจะเล่นแอ็คชั่นทิ้งของเสีย ให้เล่นตอนที่จั่วของเสียได้ขึ้นมาเยอะๆ หรือหลังจากเก็บควันเข้าถุงจะดีกว่า

หาเครื่องดื่มวางเคียงแก้เหงา แล้วนั่งงึมงำคิดไปเล่นไปคนเดียว เอาให้เต็มที่

พยัคฆ์อรุณเราหวังว่าคุณจะสนุกไปกับเกมนี้ ไปญี่ปุ่นอย่าลืมหาซื้อไว้ คุ้ม! เล่นแล้วดูดีมีสไตล์

และนี่คือรีวิวเกม Coffee Roaster 

ขอขอบคุณทุกท่านที่สนใจ โปรดกดไลก์หรือแชร์ หรือ follow เราเพื่อเป็นกำลังใจในการสร้างบทความดีๆต่อไป

เพราะเราแสวงหาความสนุก ไม่แสวงหากำไร :))

สามารถกดไลก์ เพื่อติดตามเรื่องราวใหม่ๆได้ที่ https://www.facebook.com/payakarunboardgame

ดู 200 ครั้ง

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Dive

Comments


bottom of page